ทำความรู้จักกับ Total Cost of Ownership (TCO) เครื่องมือช่วยตัดสินใจในการลงทุนด้านไอที

ในหลายครั้งที่การเสนอซื้ออุปกรณ์ด้านไอทีมักจะไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท เนื่องจากข้อมูลที่นำเสนอมีน้อยเกินไปที่จะตัดสินใจ บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ไอทีมักจะส่งแค่ใบเสนอราคา (Quotation) ไปให้เพียงอย่างเดียว หรือบางครั้งแนบเอกสารเชิงเทคนิค (เช่น Data Sheet) แต่ก็มักจะถูกปฎิเสธกลับมาเพราะเห็นว่าราคาแพงเป็นประจำ ปัญหาดังกล่าวน่าเรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกของชาวไอทีเลยก็ว่าได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อมูลที่ใช้ในการนำเสนอไม่เพียงพอทำให้การตัดสินใจผิดพลาดจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนนั่นเอง (ส่วนมากผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทไม่เข้าใจข้อมูลเชิงเทคนิคที่ส่งไป เพราะถ้าหากเข้าใจก็ไม่จำเป็นต้องจ้างเจ้าหน้าที่ไอทีเพื่อมาดูแลก็ได้) ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้พิจารณาข้อมูลมากขึ้นเพื่อช่วยในการตัดสินใจคือ Total Cost of Ownership หรือ TCO นั่นเอง

อ้างอิงตามคำนิยามของ Gartner ระบุว่า Total Cost of Ownership คือการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านไอทีรวมไปถึงค่าใช้จ่าย (Cost) อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ยกตัวอย่างเช่น ด้านไอที TCO จะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การบริหารจัดการและการสนับสนุน (Support) ค่าใช้จ่ายด้านการติดต่อสื่อสาร ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้งาน รวมไปถึงค่าอบรมการใช้งาน ค่าความเสียหายในการผลิต (productivity losses) และค่าความเสียหายเมื่อระบบใช้งานไม่ได้ (cost of downtime) อีกด้วย เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นผมขอยกตัวอย่าง บริษัท ABC Company มีการใช้งานไฟร์วอลล์ยี่ห้อ XYZ อยู่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้งานมากเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปีแล้ว กำลังพิจารณาซื้ออุปกรณ์ใหม่มาทดแทน หรือเช่าใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจากผู้บริการ โดยมีทางเลือกดังนี้

  1. ใช้งานอุปกรณ์เดิมจะเสียค่าต่ออายุปีละ 40,000 บาท และเจ้าหน้าที่ไอทีที่ต้องดูแลปีละ 50,000 บาท เนื่องจากเป็นอุปกรณ์เก่ามักจะมีปัญหาช่วงเวลางานที่มีการใช้งานหนัก และอุปกรณ์มักจะค้างนอกเวลางานทำให้ต้องเข้ามาที่ออฟฟิสเพื่อแก้ไขปัญหา
  2. ซื้ออุปกรณ์ใหม่ทดแทนอุปกรณ์เดิม โดยอุปกรณ์ใหม่ราคา 120,000 บาท มีค่าอบรมการใช้งาน 10,000 บาท หลังจากนั้นจะเสียค่าต่ออายุและค่าดูแลโดยเจ้าหน้าที่ไอทีปีละ 12,000 และ 30,000 บาทตามลำดับ
  3. เช่าใช้อุปกรณ์ดังกล่าว โดยเป็นรุ่นเดียวกับทางเลือกที่ 2 ซึ่งมาพร้อมกับการดูแลหลังการขาย (Managed Service) โดยเสียค่าใช้จ่ายปีละ 50,000 บาท และประเมินว่าเจ้าหน้าที่ไอทีจะดูแลปีละ 20,000 บาท เนื่องจากทางผู้ให้บริการดูแลและให้คำปรึกษาตลอดการใช้งาน

จากทางเลือกทั้ง 3 แบบดังกล่าว เมื่อลองทำตารางเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในระยะเวลา 3 ปีจะได้ดังนี้

No Solution Categories Year 0 Year 1 Year 2 Year 3 Total Cost without Engineer Total Cost of Ownership
1 Use current firewall Hardware - - - - 120,000 270,000
MA/ Subscription - 40,000 40,000 50,000
Rental - - - -
Engineer - 50,000 50,000 50,000
2 New firewall Hardware 120,000 - - - 156,000 256,000
MA/ Subscription - 12,000 12,000 12,000
Rental - - - -
Engineer 10,000 30,000 30,000 30,000
3 Rental firewall with managed service Hardware - - - - 165,000 225,000
MA/ Subscription - - - -
Rental - 55,000 55,000 55,000
Engineer - 20,000 20,000 20,000

จากตารางด้านบน Year 0 คือค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในครั้งแรก (Initial Cost) ส่วน Year 1 – Year 3 คือค่าใช้จ่ายในปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ตามลำดับ โดยจากตารางดังกล่าวหากเราพิจารณาจากค่าใช้จ่ายจริง (แถว Total Cost without engineer) จะพบว่าควรจะต่ออายุอุปกรณ์ตัวเดิมต่อไปเพราะต้นทุนต่ำที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบจะมีปัญหาทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะอุปกรณ์เก่าและเจ้าหน้าที่ไอทีต้องมาดูแลในช่วงนอกเวลางานอีกด้วย (พูดง่ายๆ คือถ้าระบบเดิมดีอยู่แล้ว เราจะมาหากทางเลือกอื่นทำไม?) หากพิจารณาจาก Total Cost of Ownership จะเป็นการแสดงต้นทุนทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางเลือกที่ 3 ในการเช่าใช้อุปกรณ์พร้อมทั้งการบริการหลังการขายจะมีราคาถูกที่สุด อีกทั้งยังมีความเสี่ยงน้อยเพราะถ้าหากการให้บริการไม่ดีก็สามารถยกเลิกได้และค่อยพิจารณาทางเลือกที่ 2 ในการซื้ออุปกรณ์ทดแทน

จะเห็นได้ว่าการพิจารณาแบบ Total Cost of Ownership จะเป็นรูปแบบการพิจารณาที่เห็นต้นทุนทั้งหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อช่วยในการตัดสินใจด้านไอทีได้เป็นอย่างดี

หมายเหตุ: เนื่องจากเป็นการคำนวณต้นทุนในภาพรวมทั้งหมด จึงขอไม่ลงรายละเอียดในการพิจารณาการลงทุนตามหลักประเมินโครงการทางการเงิน เช่น Payback Period, Net Present Value (NPV) หรือ Internal Rate of Return (IRR) เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านรายได้ และไม่ต้องการให้เกิดความสับสนและซับซ้อนเกินความจำเป็น

อ้างอิง: